ผลกระทบต่อตาแห้งและวิธีการป้องกัน ภาวะหลังการติดเชื้อโควิด-19
1 ภาวะหลังการติดเชื้อโควิด-19 (Post-COVID-19 conditions)
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยจำนวนเกือบ 600 ล้านคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งการระบาดดังกล่าวไม่เพียงส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิต แต่ยังส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงของภาวะหลังการติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย1
ภาวะโพสต์โควิด-19 เป็นปัญหาทางสุขภาพที่มีความหลากหลายที่ผู้คนต้องเผชิญหลังจากติดเชื้อโคโรน่าไวรัส หรือSARS CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 โดยภาวะที่เกิดขึ้นอาจอยู่ได้นานเป็นหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี และบางครั้งอาการที่เกิดขึ้นอาจหายไป และกลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ผู้ที่เคยติดเชื้อโคโรน่าไวรัสนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการของโรคโควิด-19 ก็สามารถเกิดภาวะหลังการติดเชื้อโควิด-19 ได้2
กลุ่มอาการของภาวะหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีความแตกต่างกันออกไป โดยมีตั้งแต่อาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง (เช่น เหนื่อยล้า หรือ อ่อนเพลีย) ตลอดจนอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ, ระบบหัวใจ และหลอดเลือด, ระบบประสาท, หรือระบบย่อยอาหาร2 ซึ่งกลุ่มอาการของโรคตาแห้งก็เป็นอาการที่พบได้บ่อยเช่นกัน3
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยหลังหายจากโรคโควิด-19 มีอาการอย่างน้อย 1 อย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคตาแห้ง ซึ่งประกอบด้วย การมองเห็นพร่ามัว, คันตา, เจ็บ หรือแสบตา, และตาแดง โดยนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มอาการดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด-193
2 โควิด-19 และโรคตาแห้ง
โรคตาแห้งคืออะไร?
ตาแห้ง (keratoconjunctivitis sicca) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อดวงตาเกิดการระคายเคือง เนื่องจากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาได้ไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการที่น้ำตาระเหยเร็วเกินไป โดยโรคตาแห้งมักเป็นโรคเรื้อรัง และสามารถเกิดขึ้นได้ในคนสุขภาพดี4 ในกรณีร้ายแรงโรคตาแห้งสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาการมองเห็นได้
ตัวอย่างของอาการโรคตาแห้งที่พบได้บ่อย5
- แสบตา, เคือง หรือ คันตา
- ตาแดง
- มีขี้ตา
- น้ำตาไหลมากขึ้นจากการระคายเคือง
- การมองเห็นพร่ามัว
โควิด-19 ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งได้อย่างไร?
นักวิจัยได้เสนอความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างเชื้อโคโรน่าไวรัส และการเกิดโรคตาแห้ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หรือพฤติกรรมของผู้คนหลังจากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคตาแห้ง
- เชื้อไวรัสสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมระดับจุลภาคของพื้นผิวดวงตา รวมถึงไมโครไบโอม (microbiome) และสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนในพื้นผิวดวงตาได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (meibomian glands)3 โดยการที่ต่อมดังกล่าวไม่ได้หลั่งไขมันอย่างเพียงพอเข้าไปในฟิล์มน้ำตา และทำให้น้ำตาระเหยเร็วขึ้น
- การติดเชื้อโคโรน่าไวรัส อาจเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในเส้นใยประสาทขนาดเล็กของพื้นผิวดวงตา ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคตาแห้ง ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสัดส่วนกับความรุนแรงของกลุ่มอาการโรคตาแห้ง6
- สุดท้ายถึงแม้จะไม่เคยติดเชื้อ แต่คุณก็สามารถเกิดโรคตาแห้งได้ เนื่องจากใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-197 หรือเนื่องจากลมหายใจที่ไหลเวียนบริเวณรอบหน้ากากอนามัยรั่วไหลมาเข้าตาจากการที่สวมใส่รอบหน้ากากอนามัยทุกวัน และส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง8
ดวงตาของคุณสามารถได้รับผลกระทบจากการรักษาโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
เหตุผลหนึ่งที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างโรคตาแห้ง และความรุนแรงของโรคโควิด-19 อาจเป็นการรักษาในระยะเฉียบพลัน เมื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยมักได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งกระบวนการนี้อาจนำไปสู่ภาวะของเหลวคั่งในดวงตา (เยื่อบุตาบวม) และทำให้เปลือกตาปิดไม่สนิท นอกจากนี้ยาที่ใช้ระหว่างเข้ารับการรักษาในห้อง ICU สามารถลดปฏิกิริยาการกะพริบตา และลดความตึงของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ปิดเปลือกตา ตลอดจนการไหลของอากาศจากระบบจ่ายออกซิเจน (oxygen delivery system) อาจทำให้ฟิล์มน้ำตาระเหยได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบระยะยาวต่อฟิล์มน้ำตาหลังการรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ได้รับออกซิเจนเสริม (supplementary oxygen)3
คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงของโรคตาแห้
คำแนะนำมากมายที่ช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง โดยมีตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ได้ดังต่อไปนี้5,9
- ตรวจสอบให้มั่นใจว่าหน้ากากอนามัยแนบพอดีกับสันจมูก และไม่เสียดสีกับเปลือกตาล่าง
- หยอดน้ำตาเทียมบ่อยๆ เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น โดยอาจต้องหยอดวันละหลายครั้ง หรือเพียงหนึ่งครั้งต่อวัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการตาแห้ง
- เปลี่ยนจากการใช้คอนแทคเลนส์เป็นแว่นตา หรือใช้เลนส์ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับโรคตาแห้ง ซึ่งเลนส์ประเภทนี้จะช่วยปกป้องพื้นผิวดวงตา และรักษาความชุ่มชื้น
- ถนอมดวงตาด้วยการประคบอุ่นทุกวัน เพื่อช่วยผ่อนคลายดวงตา
- กะพริบตาบ่อย ๆ และใช้กฎ 20-20-20 ระหว่างใช้เวลากับหน้าจอ ทุก 20 นาที ให้พักสายตา 20 วินาที และมองบางอย่างที่อยู่ห่างออกไปอย่างน้อย 20 ฟุต (6 เมตร)
- รับประทานโอเมก้า 3 หรือ น้ำมันปลาเพื่อช่วยให้อาการตาแห้งดีขึ้น ซึ่งบางการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรับประทานอาหารเสริมดังกล่าว
- สวมแว่นกันแดดก่อนออกไปข้างนอกเพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดและลม การสัมผัสกับแสงแดดและลมเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งทำให้น้ำตาระเหยเร็วมากขึ้น
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่ออาการตาแห้งยังคงอยู่ หรือแย่ลงหลังหายจากโรคโควิด-19 แม้ว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในร้านขายยา (Over the counter products) หากเจ็บตา และมีอาการตาแดง ทั้งที่มีและไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเปลือกตาร่วมด้วย ควรปรึกษาจักษุแพทย์ การรักษาที่คลินิกจักษุแพทย์จะมีทั้งการรักษาโดยใช้ยา หรือหัตถการ10,11
- แพทย์อาจสั่งใช้ยาเพื่อลดอาการอักเสบของดวงตาหรือเพิ่มความชุ่มชื้นในดวงตา ซึ่งยาดังกล่าวอาจจะมีรูปแบบเป็นยาหยอดตา, ยาขี้ผึ้ง, ยาเจล ฯลฯ
- คุณอาจได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์ หรือกระบวนการอื่นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดวงตา และช่วยให้อาการของโรคตาแห้งดีขึ้น
- WHO Coronavirus (COVID-19) Dashboard. World Health Organization. https://covid19.who.int. Accessed 15th Aug 2022
- Long COVID or Post-COVID Conditions. U.S. Center for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects/index.html. Accessed 15th Aug 2022
- Wan KH, Lui GCY, Poon KCF, et al. Ocular surface disturbance in patients after acute COVID-19. Clin Exp Ophthalmol. 2022;50(4):398-406.
- Dry eye syndrome. MedlinePlus. https://medlineplus.gov/ency/article/000426.htm. Accessed 15th Aug 2022
- What Is Dry Eye? Symptoms, Causes, and Treatment. American Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-dry-eye. Accessed 15th Aug 2022
- Barros A, Queiruga-Piñeiro J, Lozano-Sanroma J, et al. Small fiber neuropathy in the cornea of Covid-19 patients associated with the generation of ocular surface disease. Ocul Surf. 2022;23:40-48.
- Saldanha IJ, Petris R, Makara M, Channa P, Akpek EK. Impact of the COVID-19 pandemic on eye strain and dry eye symptoms. Ocul Surf. 2021;22:38-46.
- Moshirfar, M., West, W.B. & Marx, D.P. Face Mask-Associated Ocular Irritation and Dryness. Ophthalmol Ther. 2020;9:397–400.
- Dry eye. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9030-dry-eyes. Accessed 15th Aug 2022
- Dry Eyes. National Health Service. https://www.nhs.uk/conditions/dry-eyes/. Accessed 15th Aug 2022
- Dry Eyes. Mayo Clinic. Dry eyes - Symptoms and causes - Mayo Clinic. Accessed 15th Aug 2022
Five‐item Dry Eye Questionnaire (DEQ-5).